เปิดใจ ผอ.ศ.น.พ. ... พัฒนาเพิ่มค่าการศึกษาต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องของแพทย์ (ศ.น.พ.) ได้ต้อนรับผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาต่อเนื่องของแพทย์คนใหม่ นั่นก็คือ พ.อ. (พิเศษ) นพ.กิฎาพล วัฒนกูล ซึ่งท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และต้องการทำให้การศึกษาต่อเนื่องของแพทย์ได้รับการยอมรับมากขึ้น วารสาร Medical Progress CME ฉบับนี้ได้รับเกียรติจากท่านผู้อำนวยการฯ มาพูดคุยถึงการดำเนินงานและแผนการต่างๆ เพื่อพัฒนางานของศูนย์การศึกษาต่อเนื่องให้ดำเนินก้าวหน้าต่อไป
1. มุมมองที่มีต่อกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่องก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการและมุมมองในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ฯ
งานของ ศ.น.พ. ไม่ง่ายเลยครับ แต่จำเป็นและต้องทำ มุมมองในฐานะของผู้อำนวยการศูนย์ฯ ต้อง บอกก่อนครับว่า ศ.น.พ.เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นโดยแพทยสภา เมื่อ พ.ศ.2543 เพื่อเป็นองค์กรประสานงานกลางระดับชาติ เป็นศูนย์กลางรับรองวิทยฐานะของกิจกรรมทางวิชาการทางการแพทย์ และที่สำคัญสถาบันแห่งนี้มุ่ง ที่จะเอื้ออำนวย ความสะดวกแก่แพทย์ทุกคน เพื่อให้ได้ความรู้จากโปรแกรมการศึกษาต่อเนื่องต่างๆ ตามเกณฑ์มาตรฐานระดับสูง ดังนั้น ศ.น.พ. ก็จะต้องดำเนินการไปตามแนวทางนี้ และให้เกิดรูปธรรม ซึ่งก็จะส่งผลให้ประชาชนชาวไทยทุกคนได้รับการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีมาตรฐานทุกระดับทั้งภาครัฐและเอกชน
2. เป้าหมายและนโยบายของการจัดทำกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่อง
เป้าหมายและนโยบาย คือการส่งเสริมให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม มีความรู้ ความสามารถ ตลอดจนทักษะและเจตคติทางวิชาชีพให้อยู่ในระดับมาตรฐาน หากแพทย์ทำ CME กันมากขึ้น หรือ เราหาวิธีทำให้แพทย์อยากทำ CME กันมากขึ้น ก็คาดว่าแพทย์จะได้รับความรู้กลับไปมากขึ้น เกิดคุณภาพ เกิดมาตรฐานทางวิชาชีพมากขึ้น และท้ายสุดก็จะเกิดการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เกิดวงจรของการเรียนรู้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับวิชาชีพของเรา
3. กลยุทธ์และวิธีการในการดำเนินงานของกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่องในปัจจุบันและอนาคต
สิ่งที่คิดว่าจะทำในขณะนี้ก็คือ จะต้องทบทวนกิจกรรมการเก็บคะแนนที่มีอยู่ ซึ่งไม่ควรจะเพิ่มภาระงานให้กับแพทย์ ไม่กระทบชีวิตส่วนตัว ทั้งนี้ต้องยอมรับครับว่า งานของแพทย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน แค่ทำงานประจำตามหน้าที่ก็หนักมากพออยู่แล้ว ยังจะต้องระวังเรื่องการร้องเรียน ซึ่งไม่เคยมีมากเท่านี้มาก่อน ถ้าเป็นไปได้การเก็บคะแนน CME ต้องให้สอดคล้องกับงานที่ทำอยู่ประจำวัน รวมทั้งการเก็บคะแนนสะสมต้องไม่มากหรือไม่น้อยเกินไป โดยจะเปรียบเทียบกับข้อมูลการเก็บคะแนนของแพทย์ในประเทศต่างๆ ทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา เพื่อให้เป็นมาตรฐานที่ยอมรับกันได้ มีเหตุมีผลที่ตอบได้กับทุกคน ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ผมคิดไว้แล้วในแผนยุทธศาสตร์ แต่จะต้องนำเสนอให้คณะกรรมการบริหารได้พิจารณาก่อน เพื่อความเหมาะสมครับ
4. จุดอ่อน จุดแข็ง และปัญหาของกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่อง
ที่ผ่านมา ผอ.ศ.น.พ. ทุกท่านได้ทำงานกันอย่างทุ่มเทเต็มความสามารถแล้ว แต่อย่างที่บอกไว้ตอนต้นครับงานนี้ไม่ง่าย มีเงื่อนไข และปัจจัยอีกมากที่ไม่สะดวกต่อการขับเคลื่อนในการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างที่เห็นชัดๆ ก็คือ ภาระงานของแพทย์ที่มีอยู่มากจริงๆ ในการมาประชุมแต่ละครั้งก็ยังต้องแลกเวรกัน บางครั้งแลกเวรแล้ว ก็ยังมาไม่ได้เพราะมีเหตุฉุกเฉิน งานรักษาบางอย่างไม่สามารถทำแทนกันได้ แพทย์หลายท่านมีผู้ป่วยนัดไว้มากจนปลีกตัวไปไหนไม่ได้เลย เพราะสงสารผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผมตรวจสอบดูขณะนี้เรามีแพทย์บางท่านที่ทำคะแนนสะสมได้ถึง 2,000 คะแนน ในขณะที่แพทย์หลายท่านยังทำคะแนนได้ไม่ถึง 100 คะแนน ผมขอเวลาศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลอีกครั้งครับ เพื่อหาแนวทางต่อไป ส่วนจุดแข็งที่เห็นชัดๆและเป็นข้อสำคัญข้อหนึ่งก็คือ คณะกรรมการบริหาร ของ ศ.น.พ.ทั้ง 15 ท่าน แต่ละท่านล้วนมีประสบการณ์และเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ ทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ โดยเฉพาะกรรมการบริหารใหม่ชุดนี้ มีท่านอาจารย์ ศ.เกียรติคุณ พญ. สมศรี เผ่าสวัสดิ์ เป็นประธาน ครับ
5. มาตรการเชิงรุกที่จะทำให้แพทย์สนใจเข้าร่วมกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่อง
ผมคิดว่าการเป็นกัลยาณมิตรกับทุกสาขาวิชาชีพทางการแพทย์จะช่วยให้การทำกิจกรรมได้น่าสนใจ และเกิดการมีส่วนร่วม ผมเข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2552 จากนั้นก็ได้ขอเข้าพบท่านอาจารย์เพ็ญศรี ระเบียบ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาต่อเนื่องสาขาพยาบาลศาสตร์ ท่านอาจารย์ นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) และ ท่านรองเลขาฯ แพทยสภา อาจารย์ นพ.อิทธพร คณะเจริญ ซึ่งท่านอาจารย์ทั้งสามยินดีและเห็นด้วยที่จะก้าวเดินไปด้วยกัน ทำกิจกรรม และสร้างการมีส่วนร่วม ซึ่งกันและกัน นับเป็นกัลยาณมิตรที่จะเกื้อกูลการทำงานกันต่อไป นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายหน่วยงานครับที่ผมจะต้องไปขอความร่วมมือเพื่อวิชาชีพของพวกเราครับ
6. บทบาทและความร่วมมือจากสถาบันหลักและสถาบันสมทบ
ดีมากครับ ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เราจะเดินหน้าต่อไปและทำภาพกิจกรรมต่างๆให้ชัดเจนขึ้น รวมทั้งการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยให้การทำกิจกรรม และการเก็บคะแนนให้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และมีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้ก็ต้องขอขอบคุณ วารสาร Medical Progress ที่ได้ช่วยสนับสนุนการทำCMEผ่านทางวารสาร และช่วยเป็นสื่อในการเผยแพร่ข้อมูลต่างๆอีกด้วย ขอบคุณครับ
7. ท่านอยากฝากอะไรแก่แพทย์ในฐานะผู้อำนวยการ ศ.น.พ. บ้าง
ผมตั้งใจจะทำงานนี้เพื่อองค์กรวิชาชีพของพวกเรา ผมพอจะมองเห็นปัญหาอยู่บ้าง แต่ในการแก้ปัญหานั้นๆ ต้องอาศัยความร่วมมือ และต้องอยู่ในกฎระเบียบที่ถูกต้อง ทั้งของแพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข และสังคม อาจจะถูกใจบางท่านหรืออาจจะยังไม่ถูกใจบางท่าน แต่ต้องรักษาภาพลักษณ์ และคงศักดิ์ศรีของวิชาชีพแพทย์ของพวกเราเอาไว้ ดังนั้นความเห็นและความร่วมมือของพวกท่านจะมีส่วนร่วมผลักดันให้การทำงานเกิดเป็นรูปธรรมที่สมบูรณ์ได้ จึงขอฝากว่า งานการศึกษาต่อเนื่องเป็นของพวกเรา และ ไม่มีใครจะทำได้ดีไปกว่าพวกเรากันเอง ต้องขอความร่วมมือมากๆครับ ใครมีความสามารถที่จะช่วยเหลืออะไร หรือ มีคำแนะนำดีๆอะไร ขอได้โปรดแสดงความคิดเห็นได้ที่ website : www.ccme.or.th ขอบคุณมากครับ.