\'ศิริราช\' เปิดศูนย์ SiTEC ศูนย์ฝึกผ่าตัด-หัตถการทางการแพทย์ขั้นสูง พร้อมเผยสามารถผลิต \'อาจารย์ใหญ่แบบนุ่ม\' ได้แล้ว 25 ร่าง ช่วยให้แพทย์เฉพาะทางฝึกผ่าตัดให้เชี่ยวชาญ ก่อนผ่าตัดจริง ขณะตั้งเป้าทำเพิ่มเป็น 40 ร่าง ในปี 2558 นี้…
เมื่อวันที่ 23 เม.ย.57 ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในพิธีเปิดศูนย์ฝึกอบรมทักษะหัตถการทางการแพทย์ (Siriraj Training and Education Center for Clinical Skills: SiTEC) ว่า ศูนย์ SiTEC เป็นศูนย์เพื่อฝึกการผ่าตัด และหัตถการทางการแพทย์ขั้นสูง สำหรับแพทย์ประจำบ้าน แพทย์ต่อยอด รวมถึงอาจารย์ทั้งใน และนอกคณะ ซึ่งประกอบไปด้วย ห้องฝึกผ่าตัด 8 เตียง จำนวน 2 ห้อง ห้องฝึกผ่าตัดขนาด 2 เตียง จำนวน 2 ห้อง รวมทั้งสิ้น 20 เตียง ห้องบรรยายขนาด 45 ที่นั่ง พร้อมระบบโสตทัศนูปกรณ์เพื่อถ่ายทอดการสาธิตผ่าตัด และสามารถถ่ายทอด Video Tele Conference ระหว่างประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีห้องฝึกผ่าตัดจุลศัลยกรรม ขนาด 10 โต๊ะ มีอุปกรณ์การฝึกผ่าครบครัน รวมถึงเครื่องฝึกผ่าตัดเสมือนจริง (Simulators) ที่ทันสมัย เช่น ชุดฝึกใส่สายสวนหลอดเลือดสมอง อุปกรณ์ฝึกการผ่าตัดเสมือนจริงด้วยวิธีการส่องกล่อง เป็นต้น รวมถึงตู้แช่เพื่อเก็บรักษาร่างอาจารย์ใหญ่ได้สูงสุดถึง 24 ร่าง
ศ.พญ.สุวรรณี สุรเศรณีวงศ์ ประธานศูนย์ SiTEC กล่าวว่า ศูนย์ SiTEC เปิดมาเกือบ 2 ปีแล้ว แต่ได้ฤกษ์เปิดอย่างเป็นทางการในวันนี้ ด้วยการถือโอกาสของการครบรอบ 126 ปี โรงพยาบาลศิริราชด้วย ซึ่งศูนย์นี้เป็นศูนย์ฝึกผ่าตัด และหัตถการทางการแพทย์ บนร่างอาจารย์ใหญ่ ทั้งแบบแช่แข็ง และแบบนุ่ม ซึ่งศิริราชได้ปรับปรุงพื้นที่ขนาด 1,000 ตร.ม. ตั้งแต่ ก.ย.56-เม.ย.57 โดยได้รบงบประมาณจากเงินศิริราชมูลนิธิ จำนวน 24.5 ล้านบาท โดยปรับปรุงพื้นที่ตั้งแต่ ก.ย. 2556 - เม.ย. 2557
นอกจากนี้ ในส่วนของอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดินกว่า 60 ล้านบาท และศิริราชมูลนิธิ 36 ล้านบาท เช่น เครื่องผ่าตัดด้วยวิธีการส่องกล้อง ชุด Training box และเครื่อง Simulators สำหรับฝึกผ่าตัดทางศัลยศาสตร์สาขาต่างๆ ชุดหุ่นจำลองฝึกทักษะ ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ยังได้รับความร่วมมือจากภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ที่พัฒนาอาจารย์ใหญ่แบบนุ่ม ซึ่งได้ศึกษาดูงานจากประเทศอังกฤษและสวิตเซอร์แลนด์ โดยได้ปรับสูตรน้ำยาและกระบวนการเตรียมร่างให้เหมาะสมกับสภาพเมืองไทย ที่มีอากาศร้อน จนมีความสมบูรณ์เสมือนจริงมากยิ่งขึ้น
"แต่เดิมเวลาที่เราเรียนแล้วเราจะฝึกทักษะเราจะทำในตัวผู้ป่วยเลย แต่ในปัจจุบันการคำนึงถึงในเรื่องของความปลอดภัยมาก สำหรับการฝึกผ่าตัดนั้น จะช่วยให้นักศึกษาแพทย์นั้นมีความชำนาญ และเชี่ยวชาญมากขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง และมีความซับซ้อน จำเป็นต้องฝึกก่อน นอกจากนี้ บริษัท Olympus ประเทศไทย จำกัด ได้ให้การสนับสนุน กล้องผ่าตัด 3 มิติ ซึ่งช่วยย่นระยะเวลาผ่าตัดลงได้ 20-30% ขณะเดียวกัน ยังช่วยให้ผ่าตัดได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น" ศ.พญ.สุวรรณี กล่าว
ด้าน นพ.ปกรณ์ แสงฉาย อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ หนึ่งในทีมที่อยู่ในกระบวนการทำร่างอาจารย์ใหญ่แบบนุ่ม เปิดเผยว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการมาสามารถทำร่างอาจารย์ใหญ่แบบนุ่มได้แล้ว 25 ร่าง โดยวางแผนไว้ว่า ในปี 2558 จะทำให้ได้ 40 ร่าง และในอนาคตก็ได้มีการตั้งเป้าเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ในระดับปริญญาตรีด้วย
"ตอนนี้การฝึกผ่าตัดในร่างอาจารย์แบบนุ่ม ยังใช้ฝึกแค่เฉพาะกลุ่มของแพทย์ประจำบ้าน แพทย์ต่อยอด รวมถึงอาจารย์เท่านั้น เพราะต้องฝึกผ่าตัดเฉพาะทาง เช่น ข้อ กระดูก ประกอบค่าใช้จ่ายของการทำร่างอาจารย์ใหญ่แบบดั้งเดิม หรือแบบแข็ง ถูกกว่าแบบนุ่มถึง 3 เท่า" นพ.ปกรณ์ กล่าว
ขณะที่ พญ.วิภา โพธิโต แพทย์ต่อยอดเฉพาะทาง ด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง กล่าวในขณะที่กำลังฝึกผ่าตัดกระเพาะ ผ่านกล้อง บนร่างอาจารย์ใหญ่แบบนุ่ม กล่าวว่า การฝึกผ่าตัดบนร่างอาจารย์ใหญ่แบบดั้งเดิม และแบบนุ่มนั้นมีความแตกต่างกัน คือ แบบนุ่มจะให้ภาพที่เสมือนจริงกว่า นุ่มกว่า และฝึกได้ง่ายกว่า.