ศิริราชเจ๋ง เปลี่ยนหัวใจเทียมสำเร็จเป็นรายแรกของไทย ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้ายมานาน ผ่าตัดแล้วสามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทุกอย่าง แต่ค่าใช้จ่ายแพงลิ่วเกือบ 20 ล้านบาท

\"\"

 

 แพทย์ศิริราชเจ๋ง ผ่าตัดใส่หัวใจเทียมผู้ป่วยรายแรกของไทยสำเร็จ หลังจากมีภาวะหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้ายมานาน ใช้ชีวิตประจำวันลำบากมาก กินยาก็ไม่ดีขึ้น ปลูกถ่ายหัวใจก็ไม่ได้ แพทย์จึงเสนอวิธีผ่าตัดใส่หัวใจเทียม หลังผ่าตัดแล้วสามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทุกอย่าง แต่ค่าใช้จ่ายแพงลิ่วเกือบ 20 ล้านบาท

 

วานนี้ (24ก.พ.) ที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล จัดแถลงข่าว “ศิริราชผ่าตัดใส่หัวใจเทียมสำเร็จรายแรกของไทย” โดยมี ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลและผอ.โรงเรียนแพทย์ศิริราช เป็นประธาน

 

ทางด้าน ศ.นพ.ดำรัส ตรีสุโกศล หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถกล่าวว่า หัวใจเป็นอวัยวะสำคัญที่สุดในร่างกายเปรียบเสมือนปั๊มน้ำ ถ้าปั๊มเสียก็ไม่สามารถเปิดน้ำได้ คนไข้โรคหัวใจล้มเหลวก็เช่นเดียวกัน ไม่สามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้ ซึ่งภาวะหัวใจล้มเหลวเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวอ่อนรุนแรงเป็นภาวะที่ประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจลดลง ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ตามปกติซึ่งพบมากในผู้ป่วยอายุมากกว่า 65 ปี เพราะมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง

 

โดยอาการของภาวะหัวใจล้มเหลวนั้นจะมีอาการบวมที่ขา เหนื่อยง่ายอ่อนแรงง่าย ซึ่งในปัจจุบันมีการรักษามากมายตามความเหมาะสมของผู้ป่วยตั้งแต่การใช้ยา การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบ 2 ห้อง การใส่เครื่องป้องกันกระแสไฟฟ้าลัดวงจร สุดท้ายคือการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ซึ่งมีข้อจำกัด คือเนื้อเยื่อผู้ให้จะต้องเข้ากันได้กับผู้รับ และจากความก้าวหน้าทางการแพทย์จึงมีการรักษาด้วยการผ่าตัดใส่หัวใจเทียมเป็นวิธีการรักษาที่มุ่งหวังให้โรคหายขาด ในกรณีผู้สูงอายุและผู้ที่ไม่สามารถผ่าตัดใหญ่ได้

 

ขณะที่ ผศ.นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ แพทย์ประจำสาขาวิชาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก ภาควิชาศัลยศาสตร์ และผู้ผ่าตัดใส่หัวใจเทียมกล่าวว่าถึงแม้ว่าครั้งนี้จะเป็นผ่าตัดใส่หัวใจเทียมรายแรกของไทย แต่ไม่ได้หนักใจมากเพราะเรามีประสบการณ์ในการใส่เครื่องพยุงหัวใจมากว่า 20 รายแล้ว ซึ่งเป็นสถิติการใส่เครื่องพยุงหัวใจมากที่สุดในประเทศไทยและในทั่วโลกมีการใส่หัวใจเทียมชนิดนี้กว่า 1 หมื่นราย เพื่อทำงานแทนหัวใจเดิมในระหว่างที่ผู้ป่วยรอรับการปลูกถ่ายหัวใจ หรือทดแทนหัวใจเดิมในกรณีที่ไม่สามารถรับการปลูกถ่ายหัวใจได้

 

สำหรับเครื่องดังกล่าวมีลักษณะการทำงานคล้ายคลึงกับหัวใจเทียมแต่ต่างกันที่ตัวปั๊มจะอยู่ภายนอกร่างกาย และสามารถใช้งานได้ 1–2 เดือน แต่หัวใจเทียมจะฝังอยู่ในร่างกายและสามารถทำงานแทนหัวใจเดิมใช้งานได้อย่างน้อย 10 ปี สำหรับผู้ป่วยรายนี้มีภาวะหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้ายไม่สามารถทำการปลูกถ่ายหัวใจได้ เพราะมีความดันโลหิตของปอดสูงมาก จึงมีความจำเป็นต้องใส่หัวใจเทียม

 

ผศ.นพ.ปรัญญา กล่าวอีกว่า เราได้ทำการผ่าตัดไปเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.56 การผ่าตัดผ่านไปได้ด้วยดี โดยหัวใจเทียมนี้จะฝังอยู่บริเวณใต้หัวใจเดิมตรงหน้าท้องส่วนบน จะมีท่อต่อจากหัวใจเดิม เพื่อดูดเลือดและสูบฉีดเข้าไปในเส้นเลือดใหญ่ผ่านหลอดเลือดเทียมทำงานแทนหัวใจเดิม โดยจะมีสายไฟคอยทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างหัวใจเทียม และเครื่องควบคุมซึ่งอยู่ภายนอกบริเวณหน้าท้องของผู้ป่วย โดยเครื่องควบคุมจะต่อเข้ากับแบตเตอรี่เมื่อชาร์จเต็มที่สามารถทำงานได้ 8 - 10 ชั่วโมง มีน้ำหนัก 2 กก.

 

อย่างไรก็ตาม แม้การใส่หัวใจเทียมแบบใหม่จะเป็นวิธีที่ดีแต่ขณะนี้ยังมีราคาแพง เฉพาะแค่ค่าอุปกรณ์ในโรงพยาบาลที่ใช้ในรายนี้กว่า 11 ล้านบาทและค่าอุปกรณ์ที่ผู้ป่วยนำกลับบ้านอีก 7 ล้านบาท จึงมีวงจำกัดสำหรับผู้ป่วยที่จะใช้วิธีนี้ได้

 

ส่วน นายวีระกิตติ์ นวสินพงศ์สุข ผู้ป่วยที่ได้รับการใส่หัวใจเทียมรายแรก กล่าวว่า ตนมีภาวะหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้ายมานานใช้ชีวิตประจำวันลำบากมาก กินยาก็ไม่ดีขึ้น ปลูกถ่ายหัวใจก็ไม่ได้ แพทย์จึงเสนอวิธีผ่าตัดใส่หัวใจเทียมแต่พอรู้ว่าจะเป็นคนแรกที่ใช้วิธีนี้ในประเทศไทยก็ใจไม่ดี มีความกังวลอยู่บ้าง แต่คิดว่าถึงไม่ตายก็รอดมีทางเลือกแค่ 2 ทาง ถึงเสี่ยงก็ยอม แต่แพทย์ให้การยืนยันว่า มีโอกาสรอดสูงจึงมีความมั่นใจขึ้นมา

 

หลังจากผ่าตัดไม่ได้รู้สึกเจ็บมากอย่างที่คิดรุ่งขึ้นสามารถคุยเล่นได้ตามปกติ ฟื้นตัวได้เร็ว ทุกวันนี้ชีวิตดีขึ้นมาก สามารถทำอะไรเองได้ทุกอย่าง ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทุกอย่าง แต่ต้องระวังในเรื่องแผลบริเวณที่ผ่าตัดต้องล้างทำความสะอาดอย่างดี เพราะถ้าแผลเน่าจะอันตรายมาก ติดเชื้อถึงหัวใจได้ ระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำโดยเด็ดขาดและเรื่องตัวยาต่าง ๆที่แพทย์จะต้องมาดูแล.

ที่มา : http://www.dailynews.co.th/