“ศิริราชจับมือกรมวิทย์ ครั้งแรกของไทย วิจัยใช้สเต็มเซลล์ในผู้ป่วยจอตาเสื่อมชนิดอาร์พี (Retinititis Pigmentosa) หวังผลการรักษาในอนาคต”

 \"\" \"\"

 

วันนี้ (28 มิ.ย.) ที่ รพ.ศิริราช  ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย นพ.นิพนธ์   โพธิพัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมแถลงข่าว “ศิริราชจับมือกรมวิทย์ ครั้งแรกของไทย วิจัยใช้สเต็มเซลล์ในผู้ป่วยจอตาเสื่อมชนิดอาร์พี (Retinititis Pigmentosa) หวังผลการรักษาในอนาคต”          


นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ความร่วมมือในการพัฒนาเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์รักษาโรคจอตาเสื่อม ชนิดอาร์พี ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดที่สามารถรักษาให้หายได้  ทำได้เพียงชะลอการเสื่อมของจอประสาทตาเท่านั้น  ในปี2555  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมมือกับภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จัดทำโครงการวิจัยพัฒนาเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาจอตาเสื่อมในอนาคต โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับหน้าที่ในการเตรียมเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อให้ภาควิชาจักษุวิทยานำไปใช้ในการพัฒนาวิธีการรักษาผู้ป่วย ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการวิจัยทางคลินิก

ด้าน นพ.สมชาย แสงกิจพร ผอ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  กล่าวว่า  เซลล์ต้นกำเนิดที่นำมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคจอตาเสื่อม ชนิดอาร์พี เป็นเซลล์ต้นกำเนิดที่เพาะเลี้ยงจากไขกระดูกของผู้ป่วยเอง โดยพบว่าเซลล์ต้นกำเนิดที่เตรียมได้ มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดสากลทั้งในด้านลักษณะรูปร่าง การเจริญเติบโตยึดเกาะพื้นผิวพลาสติกภาชนะเลี้ยงเซลล์ การแสดงออกของแอนติเจนบนผิวเซลล์ และความสามารถในการเจริญเติบโตไปเป็นเซลล์ไขมัน เซลล์กระดูก และเซลล์กระดูกอ่อน รวมถึงความสะอาด จากนั้นนำเซลล์ที่ได้มาพิสูจน์เอกลักษณ์และตรวจสอบการปนเปื้อน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4 สัปดาห์ แล้วจึงนำไปบรรจุหลอด และส่งต่อให้จักษุแพทย์ฉีดเข้าในวุ้นตาของผู้ป่วย 

ด้าน ศ.พญ.ละอองศรี  อัชชนียะสกุล   หัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาสเต็มเซลล์เพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาจอตาเสื่อม ชนิดอาร์พี กล่าวว่า  ขณะนี้ได้มีการทดลองในขั้นตอนที่ 1 ทดสอบความปลอดภัยด้วยการฉีดเซลล์ต้นกำเนิดเข้าวุ้นตาแก่ผู้ป่วย 2 ราย  รายแรกเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2555  และรายที่ 2 วันที่ 24 ม.ค.2556 ไม่พบภาวะแทรกซ้อน ทั้งนี้จะมีการทดสอบในผู้ป่วยอาสาสมัครอีก 3 รายให้ครบ 5 ราย ภายใน 6 เดือนนี้ หากไม่พบความผิดปกติหรืออันตราย ทางคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนก็จะอนุญาตให้ทดสอบในขั้นที่ 2 กับผู้ป่วยอาสาสมัครอีก 10 ราย หากผลการศึกษาวิจัยทางคลินิกครั้งนี้ได้ผลดี คาดว่าภายใน 3 – 5 ปีนี้  จะสามารถนำมาพัฒนาการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคจอตาเสื่อม ชนิดอาร์พีเพื่อช่วยชะลอความเสื่อมของจอตา และผู้ป่วยสามารถใช้สายตาในชีวิตประจำวันได้ อย่างปกติ ถือเป็นครั้งแรกของไทยที่ได้มีการประยุกต์นำเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์มาใช้ในการรักษาโรคจอตาเสื่อมชนิดอาร์พีซึ่งเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยการดำเนินของโรคจะค่อยๆ ทำลายจอตาอย่างช้าๆ จนตาบอด พบได้ทั้งหญิงและชายตั้งแต่แรกเกิด  อุบัติการณ์ 1  ต่อ  3,000 คน  โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่ แท้จริงถึงการเสื่อมสภาพของเซลล์รับแสงของจอตา

ที่มา : http://www.dailynews.co.th/