ตาขี้เกียจ (Amblyopia)   เป็นภาวะที่การมองเห็นของตาไม่ดี  เกิดจากตาข้างนั้นไม่ได้รับการกระตุ้นในช่วงการพัฒนาของการมองเห็น สาเหตุของตาขี้เกียจได้แก่ ตาเข สายตาผิดปรกติและมีการบดบังของการมองเห็น การรักษาตาขี้เกียจจะได้ผลดีถ้าตรวจพบเร็ว และรักษาเร็วเมื่ออายุน้อย วิธีการรักษา ได้แก่  การปิดตาดี การใส่แว่น การกำจัดการบดบัง   ตาขี้เกียจ (Amblyopia)      เป็นภาวะที่การมองเห็นของตาไม่ดี เกิดจากตาข้างนั้นไม่ได้รับการกระตุ้นด้วยภาพที่ชัดในช่วงเวลาที่กำลังมีการพัฒนาของการมองเห็น   การพัฒนาการมองเห็น การพัฒนาของเส้นประสาทตาและสมองเกิดภายใน 2 ปีแรกของชีวิต จุดรับภาพจะพัฒนาสมบูรณ์เมื่ออายุ 4 ปี การพัฒนาของการมองเห็นเกิดขึ้นในสมอง โดยภาพที่ชัดจากตาจะเป็นตัวกระตุ้น การพัฒนานี้จะเกิดขึ้นได้เฉพาะในสมองของเด็กเท่านั้น การขัดขวางใดๆก็ตามในขบวนการนี้จะทำให้เกิดตาขี้เกียจ ระยะเวลาวิกฤตของการพัฒนาของตา ระยะเวลาวิกฤตของการพัฒนาของการมองเห็นคือตั้งแต่เกิดจนถึง 3-5 ปี ระยะเวลาที่ตาเหล่อาจทำให้เกิดตาขี้เกียจคือ อายุ 2-3 เดือนจนถึง 7-8 ปี ระยะเวลาที่ยังรักษาตาขี้เกียจได้คือ ตั้งแต่เวลาที่เริ่มเป็นจนถึงวัยรุ่น   สาเหตุของตาขี้เกียจ Strabismic amblyopia เมื่อเด็กมีตาเข สมองจะสนใจแต่ภาพที่มาจากตาข้างที่ตรงเท่านั้น ทำให้สมองส่วนที่รับภาพจากตาข้างที่เขไม่พัฒนา กลายเป็นตาขี้เกียจ การผ่าตัดแก้ไขให้ตาตรงไม่สามารถทำให้ตาข้างที่เป็นตาขี้เกียจกลับมามองเห็นได้ ต้องรักษาตาขี้เกียจก่อนแล้วจึงผ่าตัดให้ตาตรง Refractive amblyopia เมื่อมีความผิดปรกติของสายตาแล้วไม่ได้รับการแก้ไข ตาข้างนั้นจะเห็นภาพไม่ชัด เมื่อสมองส่วนที่สัมพันธ์กับตาข้างนั้นไม่ได้รับการกระตุ้นด้วยภาพที่ชัดเลยจะทำให้ตาข้างนั้นเป็นตาขี้เกียจ ในรายที่สายตาของตาทั้งสองข้างแตกต่างกันมาก (anisometropic amblyopia) จะมีโอกาสเกิดตาขี้เกียจมากกว่ารายที่สายตาเท่ากันทั้งสองตา สายตายาวมีโอกาสเกิดตาขี้เกียจได้มากกว่าสายตาสั้น เพราะสายตาสั้นยังคงมองเห็นชัดเวลามองใกล้ๆบ้าง ฉะนั้นสายตาที่ยาวมากกว่า +5.00 ควรได้รับการใส่แว่นเพื่อป้องกันการเกิดตาขี้เกียจและตาเหล่เข้าใน สายตาที่สั้นมากกว่า -6.00 ควรได้รับการใส่แว่นเพื่อป้องกันการเกิดตาขี้เกียจ Deprivational amblyopia มีการบดบังของการมองเห็น เช่น ต้อกระจก หนังตาตก ก้อนเนื้องอก หรือแผลเป็นที่กระจกตา ทำให้ไม่มีภาพชัดไปกระตุ้นการพัฒนาของสมอง   การตรวจพบและรักษาตาขี้เกียจได้เร็วเท่าไร ยิ่งทำให้โอกาสการมองเห็นมากขึ้น ฉะนั้นการคัดกรองจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก แนะนำว่าเด็กทุกคนควรได้รับการตรวจตาก่อนเข้าโรงเรียน นิยมทำเมื่ออายุ 3-4 ปี เด็กอายุ 3 ปีที่มีการมองเห็นระดับ 20/40 ด้วย Tumbling E test ถือว่าปรกติ แต่ถ้าระดับ 20/70 ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติม   การรักษาตาขี้เกียจ ได้ผลเมื่อรักษาก่อนอายุ 6-10 ปี 1. แก้ไขสิ่งที่บดบังการมองเห็นเช่น ลอกต้อกระจก ผ่าตัดแก้ไขหนังตาตก 2. แก้ไขสายตาที่ผิดปรกติด้วยการใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์ โดยใส่ตลอดเวลา 3. กระตุ้นให้ตาข้างที่เป็นตาขี้เกียจได้ใช้มากๆ ด้วยการปิดตาที่ดี (occlusion) หรือการทำให้ตาดีเห็นไม่ชัด (penalization)   - Occlusion therapy คือการปิดตาข้างดีเพื่อให้ตาขี้เกียจได้ใช้งาน ระยะเวลาในการปิดตาขึ้นกับอายุ สาเหตุและความรุนแรงของตาขี้เกียจ เมื่อเริ่มการรักษาด้วยการปิดตาจะต้องติดตามผลใกล้ชิดเพราะการปิดตาดีอาจทำให้ตาดีมีการมองเห็นลดลงได้ แนะนำให้ติดตามผลเท่ากับจำนวนอายุของเด็ก เช่น ติดตามผลทุก 2 สัปดาห์ในเด็กอายุ 2 ปี ติดตามผลทุก 4 สัปดาห์ในเด็กอายุ 4 ปี - Pharmacologic penalization เป็นการใช้ยาหยอดในตาดีเช่น Atropine เพื่อให้การมองเห็นลดลงชั่วคราวเพื่อกระตุ้นให้ตาขี้เกียจได้ทำงาน   - Optical penalization เป็นการให้แว่นที่ทำให้ตาดีเห็นมัวลงเพื่อกระตุ้นให้ตาขี้เกียจได้ทำงาน ข้อเสียคือเด็กอาจมองลอดแว่น หรือไม่ใส่แว่นได้ จึงอาจเอาวิธีนี้มาใช้ร่วมกับ pharmacologic penalization ได้ การรักษาที่มีผลทั่วร่างกาย (Systemic treatment) การกินยา Levodopa-carbidopa ทำให้ตาขี้เกียจมีการมองเห็นที่ดีขึ้นได้ แต่ได้ผลชั่วคราวเท่านั้น เมื่อหยุดยา การมองเห็นที่ดีมักจะลดลงด้วย การรักษาเพื่อควบคุมให้โรคสงบต่อไป (Maintenance therapy) เมื่อรักษาตาขี้เกียจจนได้ผลดีที่สุดแล้ว แนะนำให้ทำ maintenance therapy โดยการปิดตาหรือ penalization เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นใหม่ของตาขี้เกียจ นิยมทำนานถึง 6 - 12 เดือนหลังจากการหยุดปิดตาแล้ว บางคนนิยมทำจนเด็กอายุ 7- 8 ปีเท่านั้น   ผลของการรักษาตาขี้เกียจ ถ้าภาวะตาขี้เกียจได้รับการวินิจฉัยเมื่อเด็กมีอายุอยู่ใน 2-3 ปีแรกของชีวิตการรักษาจะได้ผลดี ถ้าการรักษาเริ่มเมื่อเด็กโตจะใช้เวลาในการรักษานานขึ้น หลังอายุ 10 ปีการรักษาอาจไม่ได้ผลเลยและกลายเป็นตาขี้เกียจถาวร